Scammer (สแกมเมอร์) คืออะไร? ตรวจสอบและป้องกันได้อย่างไร?

Scammer (สแกมเมอร์) คืออะไร? ตรวจสอบและป้องกันได้อย่างไร?

มิจฉาชีพเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราในทุกยุคทุกสมัย หากไม่รู้ทันมิจฉาชีพก็อาจจะต้องเสียเงินเสียทองจำนวนมหาศาล ซึ่งหนึ่งในรูปแบบมิจฉาชีพที่ใกล้ตัวคือ Scammer (สแกมเมอร์) ที่จะหลอกลวงเราผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น อีเมล เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ และยังมีกลวิธีการหลอกลวงหลายรูปแบบทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้โดยง่าย

 

Scammer (สแกมเมอร์) คืออะไร?

Scammer (สแกมเมอร์) มาจากคำว่า Scam ที่แปลว่า “การหลอกลวง” โดยคำว่า Scammer ก็คือ “ผู้ที่หลอกลวงฉ้อฉลบนโลกออนไลน์” มักมาในหลายรูปแบบ ดังนี้

  • Scam บัตรเครดิต โดยจะส่งอีเมลหลอกลวงเพื่อให้ยืนยันข้อมูลบัตรเครดิต เพื่อมิให้บัตรถูกอายัด ซึ่งเมื่อ Scammer ได้ข้อมูลไปก็จะนำข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้
  • Scam ถูกรางวัล โดนจะส่งอีเมลที่มีเนื้อหาว่าผู้รับได้รับรางวัล แต่จะต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน หรืออาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรับรางวัล
  • Scam ค่าธรรมเนียมศุลกากร โดยจะตีสนิทเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดียหรือสังคมออนไลน์อื่นๆ บอกว่าจะส่งของมาให้ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทางศุลกากร และร้องขอให้ช่วยจ่ายในส่วนนี้
  • Scam พิศวาศ หรือ Romance Scam คือหนึ่งในรูปแบบของมิจฉาชีพทางออนไลน์ที่คนตกเป็นเหยื่อมากที่สุด โดยจะหลอกให้เชื่อว่าเป็นหนุ่มชาวต่างชาติฐานะดีมาจีบเหยื่อที่เป็นผู้หญิง และหลอกเอาเงินจำนวนมากกับเหยื่อในท้ายที่สุด ซึ่ง Romance Scam ยังแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายรูปแบบ ทั้งแบบใช้รูปคนจากอินเทอร์เน็ต แบบที่ใช้ตัวตนของตัวเองมาหลอกลวงจริงๆ และมาเจอเหยื่อถึงประเทศ ทำให้เชื่อว่ามีฐานะร่ำรวย ก่อนจะอ้างว่าเกิดปัญหาทางธุรกิจและขอยืมเงินจากเหยื่อ เป็นต้น

 

วิธีตรวจสอบและป้องกัน Scammer (สแกมเมอร์)

1. ตรวจสอบอีเมลว่าเป็นอีเมลจริงหรือไม่

กรณีที่เป็นอีเมลที่ได้รับจากธนาคาร หรือองค์กรต่างๆ ควรตรวจสอบดูให้ดีว่าใช่อีเมลของจริงหรือไม่ ก่อนที่จะคลิกลิงค์ต่างๆ ที่ส่งมา หรืออาจโทรไปสอบถามโดยตรงว่าทางธนาคารหรืออีเมลมีการส่งอีเมลลักษณะนี้มาหรือไม่

2. ตรวจสอบรูปโปรไฟล์ด้วย Search by image

เราสามารถตรวจสอบตัวตนของ Scammer ได้ในเบื้องต้นว่ารูปที่ Scammer ใช้เป็นรูปโปรไฟล์นั้นเป็นรูปเจ้าตัวจริงหรือเปล่า โดยเซฟรูปที่สงสัย กดเข้าเว็บไซต์ https://images.google.com/ อัพโหลดรูป เท่านี้ก็จะขึ้นข้อมูลของเจ้าของภาพขึ้นมา แล้วนำไปเทียบประวัติดูว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงให้สงสัยได้เลยว่าเป็น Scammer

3. ตรวจสอบ IP Address

วิธีนี้ใช้ได้กับอีเมลเท่านั้น ซึ่ง Scammer ในปัจจุบันมักใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ เช่น

  • การจะขอ IP Address จากFacebook สามารถทำได้โดยตรง แต่มีขั้นตอนยุ่งยาก และส่วนใหญ่จะต้องเกี่ยวข้องกับคดีความจึงจะทำได้
  • ถ้าเคยส่งอีเมลหากัน ในกรณีที่เป็น Gmail ให้กดเข้าเมลฉบับนั้น แล้วกดที่ลูกศรชี้ลงซึ่งอยู่หลังข้อมูลด้านเวลา จากนั้นเลือก See original ถ้าเป็น Outlook ให้คลิกขวาที่หัวข้อเรื่องอีเมล กด View message source จากนั้นก็อปปี้ IP Address ไปตรวจสอบโลเคชั่นได้ที่เว็บไซต์ https://whatismyipaddress.com

4. ตรวจสอบว่าเป็น Romance Scam หรือไม่

กรณีที่มีคนไม่รู้จักทักมาคุยในโซเชียลหรือส่งอีเมลมา ให้ลองตรวจสอบสิ่งต่อไปนี้ ถ้าเข้าข่ายข้อใดให้สงสัยได้เลยว่าเป็น Scammer และควรระวังตัวให้มาก ไม่ควรไปพูดคุยโต้ตอบด้วย หรือกดบล็อคการติดต่อไปได้เลย

  • เป็นชาวต่างชาติ บอกว่าตัวเองมีหน้าที่การงานดี มีรายได้สูง
  • พูดจาอ่อนหวานและแสดงความสนใจในตัวคุณอย่างรวดเร็ว
  • ติดต่อมาบอกว่าอยากขอยืมเงิน หรือให้นำเช็กไปขึ้นให้
  • จะเดินทางมาหา แต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มาหาไม่ได้ แล้วต้องหยิบยืมเงิน หรือให้ออกเงินให้ก่อน
  • ไม่มีญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทที่สามารถพึ่งพาเรื่องเงินได้ จึงต้องมาพึ่งคุณ

 

มีหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อของของมิจฉาชีพออนไลน์ เพราะไม่ทันสังเกต หรือรู้เท่าไม่เท่าทันกลลวง และในประเภทของ Scammer นั้น Romance Scammer มีคนตกเป็นเหยื่อมาก เพราะจะมีเทคนิคในการหลอกลวงให้เชื่อและพูดเกลี้ยกล่อมให้เหยื่อตายใจ และเหยื่อมักจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุจึงไม่รู้ว่ามีมิจฉาชีพประเภทนี้อยู่ด้วย ดังนั้นจึงควรช่วยกันสอดส่องดูแลคนในครอบครัว และคอยแจ้งเตือนรูปแบบของมิจฉาชีพออนไลน์ให้ได้รับรู้

 

 

Top

รายชื่อธุรกิจมาใหม่