Clickbait (คลิกเบต) คืออะไร? ตรวจสอบและป้องกันได้อย่างไร?

Clickbait (คลิกเบต) คืออะไร? ตรวจสอบและป้องกันได้อย่างไร?

ในยุคที่คอนเทนต์มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์ การทำคอนเทนต์ให้มีคนจำนวนมากสนใจจึงมีการแข่งขันที่สูง ดังนั้นจึงมีบางเว็บไซต์ที่ใช้เทคนิคโกงในการดึงดูดคนให้คลิกเข้ามาทั้งที่เนื้อหาภายในเว็บไซต์ไม่ได้มีอะไรหรือไม่ได้มีเนื้อหาด้วยซ้ำ แต่เจ้าของเว็บไซต์ก็ได้ประโยชน์จากจำนวนคนที่คลิกเข้ามา ซึ่งการทำแบบนั้นเรียกว่า Clickbait (คลิกเบต)

 

Clickbait (คลิกเบต) คืออะไร?

Clickbait (คลิกเบต) ถ้าแปลตรงตัวคือ “เหยื่อล่อให้คลิก” หมายถึงการใช้คำพาดหัวในเว็บไซต์เพื่อล่อลวงให้คนคลิกเข้าไปอ่านข่าวหรือบทความ เว็บไซต์ที่ทำแบบนี้คือเว็บไซต์ที่ต้องการเพิ่มยอด Traffic หรือยอดผู้เข้าชมให้กับเว็บไซต์ ซึ่ง Traffic สูงจะมีผลดีต่อเว็บไซต์ เพิ่มคะแนน SEO ที่ช่วยให้อันดับของเว็บไซต์บนหน้าผลลัพธ์การค้นหาบน Search Engine ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติม…SEO (Search Engine Optimization) คืออะไร?) รวมถึงยังใช้ยอด Traffic ในการโปรโมทพื้นที่โฆษณาในเว็บไซต์ ทำให้เกิดรายได้กับเจ้าของเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำ Clickbait จะไม่ส่งผลดีกับเว็บไซต์ในระยะยาว เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ในข่าวไม่ได้มีเนื้อหาสาระดังคำกล่าวอ้างในพาดหัว หรืออาจเป็นข่าวปลอมที่กลายเป็นการทำผิดจรรยาบรรณของผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วย นอกจากนี้แล้วเว็บไซต์ Clickbait บางแห่งก็มี Malware แฝงตัวอยู่ ทำให้ผู้ที่คลิกเข้าไปได้รับความเดือดร้อนจาก Malware ที่อาจล้วงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย (อ่านเพิ่มเติม…Malware (มัลแวร์) คืออะไร?)

 

วิธีตรวจสอบ Clickbait (คลิกเบต)

ก่อนคลิกเข้าไปอ่านข่าวหรือบทความต่างๆ ควรสังเกตดังต่อไปนี้

  • มักมีคำกระตุ้นให้คลิก พร้อมกับเครื่องหมายตกใจในชื่อบทความ เช่น ตะลึง!! อึ้ง!! เกินคาด!! ไม่น่าเชื่อ!!
  • มักมีการพาดหัวเกินจริง ปิดบังข้อมูลบางส่วน เมื่อคลิกเข้าไปดูแล้วไม่ใช่ข่าวใหญ่ดังการนำเสนอ หรืออาจเป็นข่าวปลอม
  • มักตั้งชื่อเว็บไซต์คล้ายสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง เพื่อหลอกให้ดูว่ามาจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ
  • บางเว็บไซต์อาจไม่ตั้งชื่อเลียนแบบสำนักข่าว แต่จะใช้ชื่อที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข่าวน่ารักจัง ข่าวไทยไทย เป็นต้น

 

การป้องกัน Clickbait (คลิกเบต)

  • ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์หรือลิงค์ของข่าวหรือบทความที่แชร์มาบนโซเชียลมีเดียทุกครั้งก่อนคลิกเข้าไปอ่าน
  • หลีกเลี่ยงการคลิกเข้าไปอ่านข่าวหรือบทความซึ่งพาดหัวด้วยข้อความที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • หลีกเลี่ยงการคลิกลิงค์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ซึ่งแชร์มาจากในโซเชี่ยล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่รู้จัก
  • ตรวจสอบที่มาของข่าว หรือข่าวในสำนักข่าวอื่นๆ ว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ ก่อนที่จะแชร์ต่อไปให้ผู้อื่น
  • อัพเดตซอฟต์แวร์และติดตั้งสแกนไวรัสเพื่อป้องกัน Malware หากหลงคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ Clickbait

 

Clickbait จะไม่สามารถทำอะไรเราได้เลยหากรู้ทันว่ามันมีลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงบทความหรือข่าวที่มีพาดหัวก่อให้เกิดความสงสัย รู้สึกเกินจริง เพราะพาดหัวที่ดีจะบอกเนื้อหาคร่าวๆ ว่ามีอะไรในบทความนี้ เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน และการคลิกเข้าไปอ่านคือจะได้รายละเอียดเพิ่มเติมนั่นเอง

 

 

Top

รายชื่อธุรกิจมาใหม่