Wireframe คืออะไร? สำคัญต่อการออกแบบเว็บไซต์อย่างไร?

Wireframe คืออะไร? สำคัญต่อการออกแบบเว็บไซต์อย่างไร?

การสร้างเว็บไซต์ขึ้นมานั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ในส่วนของการออกแบบ “Wireframe” อาจจะเป็นชื่อที่ได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง แต่หลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้จักว่าคำนี้นั้นคืออะไร ซึ่งวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ Wireframe กันให้มากขึ้นว่าจะช่วยเราจัดการกับปัญหายุ่งยากในการสร้างเว็บไซต์ได้อย่างไรบ้าง

Wireframe คืออะไร?

Wireframe (ไวร์เฟรม) คือโครงร่างหรือแบบร่างของเว็บไซต์ เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าหน้าตาของเว็บไซต์จะออกมาในรูปแบบไหน โดยจะเน้นไปที่โครงสร้าง องค์ประกอบ รายละเอียดต่าง ๆ และความต่อเนื่องบนหน้าเว็บไซต์ เช่น ข้อความ รูปภาพ ปุ่มต่าง ๆ ว่าแต่ละส่วนประกอบนั้นควรจัดวางไว้ตรงไหน แต่ยังไม่ได้ออกแบบให้สวยงาม

การสร้าง Wireframe ถือเป็นประโยชน์มากสำหรับการออกแบบเว็บไซต์ เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยแสดงให้เห็นไอเดียที่ชัดเจนก่อนจะออกแบบหน้าเว็บให้สวยงาม นอกจากนี้ยังช่วยให้เห็นภาพรวมหรือหน้าต่าง ๆ ของเว็บ ที่จะทำให้เห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ และแก้ไขปัญหานั้นก่อนจะลงมือออกแบบให้สวยงาม

Wireframe

ความสำคัญของ Wireframe

หากเปรียบการสร้างเว็บไซต์กับการสร้างบ้าน Wireframe ก็คือแปลนบ้านที่กำหนดตำแหน่งของห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน การสร้างเว็บไซต์ขึ้นนั้นมีรายละเอียดมากมายโดยเฉพาะเว็บไซต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลสลับซับซ้อน การออกแบบให้เสร็จสวยงามในครั้งแรกอาจจะต้องเสียเวลาแก้ไขกันนานเมื่อพบข้อผิดพลาด การร่างแบบเว็บไซต์ไว้คร่าว ๆ ก่อนว่าข้อมูลไหนจะอยู่ตรงไหนในหน้าเว็บ และช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างข้อมูลที่อาจลืมใส่ไปได้ เมื่อได้ข้อมูลบนโครงสร้างครบถ้วนแล้วการออกแบบก็จะทำได้รวดเร็วขึ้น

แนวทางการทำ Wireframe

Wireframe นั้นทำได้หลัก ๆ 2 วิธี คือการวาดลงบนกระดาษ และการวาดในคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบันก็มีโปรแกรมหรือเว็บไซต์สำหรับทำ Wireframe บนคอมพิวเตอร์ออกมาหลากหลาย โดยการทำ Wireframe ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การออกแบบโครงร่างเว็บไซต์มีองค์ประกอบหลักที่ต้องคำนึงถึง คือ อัตราส่วนและเส้นขอบ โดยเฉพาะการร่างขอบเพื่อให้รู้ขนาดของเว็บไซต์ที่จะแสดงบนจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอสมาร์ทโฟนให้ตรงกับขนาดจริงมากที่สุด เพื่อแสดงผลให้พอดีกับหน้าจอไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะทำให้เสียเวลาแก้ไขได้
  • โครงสร้างแต่ละหน้าใช้ทำอะไร การตั้งจุดประสงค์บนหน้าเว็บแต่ละหน้าว่าต้องการให้หน้าไหนมีข้อมูลอะไร ช่วยให้นักออกแบบเข้าใจรูปแบบเว็บไซต์ได้มากขึ้นและออกแบบได้ง่ายขึ้นว่าเว็บแต่ละหน้าจะมีปุ่มไหนวางไว้ตรงไหนให้เข้ากับจุดประสงค์
  • การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ ควรออกแบบไว้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ เพราะต่อให้ออกแบบโครงสร้างเอาไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ตรงกับความต้องการหรือเกิดข้อผิดพลาดก็จะต้องกลับมาออกแบบใหม่ทั้งหมด การทำโครงสร้างไว้หลากหลายแบบก็จะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก
  • Wireframe ช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงาน โดยทุกฝ่ายสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นในโครงสร้างได้ เพราะ Wireframe นั้นเป็นเพียงโครงร่างที่เข้าใจง่าย ทำให้เกิดแนวทางสร้างเว็บไซต์ที่ชัดเจนที่สุดและแก้ไขน้อยที่สุด

นอกจาก Wireframe แล้วก็ยังมีการทำ “Prototype” ซึ่งเป็นแบบร่างเว็บไซต์เช่นกันแต่จะแตกต่างกันตรงที่ Prototype คือการจำลองการใช้งานของเว็บไซต์สามารถใช้งานได้คลิกจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่งได้ ต่างกับ Wireframe ที่เน้นตำแหน่งการจัดวางเนื้อหามากกว่า

จะเห็นได้ว่า Wireframe นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างเว็บไซต์ หลาย ๆ คนก็คงเข้าใจความหมายและความสำคัญกันมากขึ้นแล้ว หากอยากสร้างเว็บไซต์หรือออกแบบเว็บไซต์ก็อย่าลืมทำ Wireframe กันก่อนจะออกแบบให้สวยงามเพื่อการทำงานที่เป็นระบบและช่วยประหยัดเวลาได้ด้วย

Top

รายชื่อธุรกิจมาใหม่