เวลาค้นหาข้อมูลบน Search Engine อย่าง Google เมื่อปรากฏผลลัพธ์ขึ้น เรามักเลือกคลิกเข้าเว็บไซต์ที่อยู่อันดับแรกๆ แต่เคยสังเกตไหมว่า บางครั้งผลลัพธ์ที่อยู่อันดับแรกๆ จะมีเครื่องหมาย “Ad” หรือ “โฆษณา” กำกับอยู่ด้วย ซึ่งนั่นถือเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Google Ads ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมไปถึงโฆษณาในรูปแบบแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ต่างๆ และวิดีโอโฆษณาบน YouTube อีกด้วย
Google Ads (Google AdWords) คืออะไร?
Google Ads หรือชื่อเดิมที่คนส่วนใหญ่รู้จักว่า Google AdWords เป็นบริการโฆษณาออนไลน์จาก Google โดยคิดค่าบริการตามจำนวนคลิก หรือจำนวนยอดวิว พื้นที่โฆษณาจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ
- Search Network หมายถึง พื้นที่บน Search Engine ของ Google ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก เวลาที่เราค้นหาข้อมูล แล้วผลลัพธ์อันดับแรกๆ มีติดคำว่า “Ad” หรือ “โฆษณา” ด้วย นั่นคือ Google Ads
- Display Network หมายถึง โฆษณาที่ไปปรากฏบนเว็บไซต์อื่นๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google โดยจะปรากฏในรูปแบบต่างๆ เช่น แบนเนอร์รูปภาพหรือ วิดีโอบน YouTube เป็นต้น
จุดเด่นของ Google Ads คือ สามารถกำหนดได้ว่าโฆษณาจะปรากฏขึ้นที่ไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร และงบประมาณเท่าไหร่ต่อวัน โดยเราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ว่า เพศ ช่วงอายุ ที่อยู่ เป็นแบบไหน ส่วนงบประมาณหรือค่าโฆษณามีหลายราคา ซึ่งโดยหลักๆ แล้วมีดังนี้
- ถ้าเป็น Search Network ราคาตามยอดคลิก (CPC : Cost-Per-Click) จะขึ้นอยู่กับ Keyword ที่เลือกใช้ใน Search Engine ว่ามีการแข่งขันสูงแค่ไหน เพราะยิ่งการแข่งขันสูง ก็แปลว่าเป็นคำที่คนค้นหาเยอะ
- ถ้าเป็น Display Network สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกเป็นแบบราคาตามยอดคลิก (CPC : Cost-Per-Click) หรือราคาตามยอดวิว (vCPM : Cost-Per-thousand-viewable-Impression) ตามเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งแบบราคาตามยอดวิวจะเน้นการสร้าง Brand Awareness เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้การทำ Google Ads บน Search Network ไม่ได้มีการแข่งขันแค่ตัว Keyword อย่างเดียว แต่ยังมีลำดับบน Search Engine หรือที่เรียกว่า Ad Rank ซึ่งการทำให้ได้ลำดับต้นๆ ก็ประกอบด้วย
- Maximum Bid คือจำนวนเงินที่มากที่สุดที่ยอมจ่ายต่อ 1 คลิก (CPC)
- Quality Score คือคะแนนคุณภาพ วัดจากเนื้อหาของโฆษณาว่าตรงกับเป้าหมายของผู้ค้นหา รวมถึงหน้าเว็บไซต์ที่เป็น Mobile-Friendly มีเนื้อหาตรงกับโฆษณา
ถ้าทั้ง Maximum Bid และ Quality Score รวมกันแล้วได้คะแนนสูง ก็จะได้พื้นที่โฆษณาอยู่บนลำดับต้นๆ นั่นหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องประมูล Keyword แพงเสมอไป ถ้าโฆษณาของเรามี Quality Score ดี ก็สามารถได้ Ad Rank ลำดับต้นๆ ซึ่งนับเป็นข้อดีของ Google Ads ที่ช่วยให้แข่งขันกับธุรกิจใหญ่ๆ ได้
ประเภทของโฆษณา Google Ads
1. Search Network Campaign (แคมเปญบนเครือข่ายการค้นหา)
Search Network Campaign คือ พื้นที่โฆษณาบนผลลัพธ์การค้นหาของ Google โดยปรากฏขึ้นเมื่อมีคนค้นหาด้วย Keyword ที่ตรงกับที่กำหนดในโฆษณา โดยเนื้อหาโฆษณาเป็น Text ประกอบด้วย Headline และ Description ที่ระบุรายละเอียดสั้นๆ ซึ่งการทำ Search Network Campaign จะคิดค่าโฆษณาตามยอดคลิกที่เกิดขึ้นจริง (CPC : Cost-Per-Click) ราคาขึ้นอยู่กับการแข่งขันของ Keyword ทั้งนี้ Keyword ที่เลือกควรเกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือสินค้า เพื่อให้ได้ Quality Score สูง และได้ Ad Rank ลำดับต้นๆ
2. Display Network Campaign (แคมเปญบนเครือข่ายดิสเพลย์)
พื้นที่ที่ปรากฏโฆษณาของ Display Network Campaign ประกอบไปด้วย Gmail, YouTube, เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google รูปโฆษณาที่สามารถใช้ได้จะมีหลายลักษณะ ทั้งแบบข้อความตัวหนังสือ, แบนเนอร์โฆษณาที่เป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมถึงวิดีโอ โดยสามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้แสดงโฆษณาได้ ทั้งนี้ค่าโฆษณามีทั้งแบบ คิดตามยอดคลิก (CPC : Cost-Per-Click) กับคิดตามยอดวิว (vCPM : Cost-Per-thousand-viewable-Impression)
3. Shopping Campaign (แคมเปญช็อปปิ้ง)
Shopping Campaign จะแสดงโฆษณาทั้งบน Search Network, Display Network และ YouTube เป็นโฆษณาที่มีจุดประสงค์เพื่อขายสินค้าโดยเฉพาะ มักประกอบด้วยรูป ชื่อ ราคา และลิงก์เว็บไซต์ ส่วนค่าโฆษณาจะนับตามจำนวนคลิก (CPC : Cost-Per-Click) ซึ่งการทำโฆษณาประเภทนี้ต้องสมัคร Google Merchant Center ก่อน
4. Video Campaign (แคมเปญวิดีโอ)
Video Campaign เป็นโฆษณาแบบวิดีโอที่ปรากฏบน YouTube โดยปรากฏก่อนเล่นวิดีโอหรือระหว่างคลิปวิดีโอ สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ต่างจาก Display Network Campaign ส่วนการคิดค่าโฆษณาจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ชมเป็นเวลา 30 วินาทีหรือคลิกเข้าเว็บไซต์ (CPV : Cost Per View) หรือเมื่อวิดีโอโฆษณาแสดงทุก 1,000 ครั้ง (CPM : Cost Per Mille)
5. App Campaign (แคมเปญแอพพลิเคชั่น)
App Campaign เป็นโฆษณาโปรโมทแอพพลิเคชั่นทั้งระบบ Android และ iOS ซึ่งจะไปปรากฎบน Search Network, Display Network, Google Play, ในแอพพลิเคชั่นอื่นๆ รวมทั้ง YouTube โดยสามารถเลือกกลยุทธ์การเสนอราคาได้ว่าเน้นเพิ่มการติดตั้ง (Target CPI : Target Cost-per-install) หรือเน้นกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการตามที่เลือกไว้ (Target CPA : Target Cost-per-action)
ลงโฆษณา Google Ads ดีอย่างไร?
1. สร้าง Brand Awareness
การทำ Google Ads เหมาะกับการสร้าง Brand Awareness เพราะถึงคนไม่คลิกเข้ามาไม่ต้องเสียค่าโฆษณา แต่คนก็ยังเห็นแบรนด์หรือสินค้าของเราผ่านตา สร้างการรับรู้และจดจำ และอาจนำไปสู่ขั้นต่อไปคือการหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และสินค้ามากขึ้น ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด
2. เลือกกลุ่มเป้าหมายได้
Google Ads สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ว่าเพศอะไร อายุเท่าไหร่ อยู่ในพื้นที่ไหน มีความสนใจอะไร ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และไม่เสียค่าโฆษณาไปโดยเปล่าประโยชน์
3. โฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทันที
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกลุ่มเป้าหมายค้นหาด้วย Keyword ก็จะพบกับโฆษณาของเราทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการในขณะนั้น ต่างกับการโฆษณาตามสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ที่ไม่ทราบว่าลูกค้าต้องการสินค้าอยู่หรือไม่
4. รองรับการตลาดหลากหลายรูปแบบ
Google Ads สามารถโฆษณาได้ทั้งบนผลลัพธ์ใน Search Engine และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็น พาร์ทเนอร์ Google โดยตัวโฆษณาสามารถทำเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่นไหว วิดีโอ หรือ ข้อความตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว จึงสามารถเลือกได้ตามความต้องการ
5. ควบคุมค่าใช้จ่ายได้
สามารถกำหนดงบประมาณในการทำ Google Ads ได้เป็นรายวัน และสามารถกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่เรียกเก็บต่อเดือนได้ ทำให้มั่นใจได้ว่างบประมาณในการทำโฆษณาจะไม่บานปลาย
6. วัดผลได้
เราสามารถดูรายงานผลได้อย่างละเอียด เช่น จำนวนการแสดงโฆษณา (Impression), จำนวนคลิก (Click), ค่าใช้จ่าย (Cost) นอกจากนี้ สามารถติดโค้ดของ Google ในเว็บไซต์ของเราเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับ Google Analytics เพื่อติดตามประสิทธิภาพของการทำโฆษณาแล้วนำมาประเมินผลใช้ในการวางแผนทางการตลาดต่อไปได้
Google Ads เป็นการโฆษณาออนไลน์ที่เลือกกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ อีกทั้งยังวัดผลได้สะดวก เห็นผลลัพธ์รวดเร็วทันใจ แต่เมื่อเลิกติดโฆษณา เว็บไซต์ของเราก็จะมียอดผู้เข้าชมหรือยอดซื้อสินค้าน้อยลงทันที นอกจากนี้โฆษณาแบบ Search Network Campaign ไม่สามารถทำให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับแรกๆ ของ Search Engine ได้อย่างถาวร ถ้าต้องการให้ติดอันดับแรกๆ เป็นระยะเวลานาน การทำ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งเป็นการปรับแต่งเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ จะเห็นผลในระยะยาวมากกว่า (อ่านเพิ่มเติม…SEO (Search Engine Optimization) คืออะไร?)
บทความน่ารู้อื่นๆ
• Search Engine (เสิร์ชเอ็นจิน) คืออะไร?
• Search Engine Marketing (SEM) คืออะไร? ทำการตลาดเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างไรดี?
• SEO (Search Engine Optimization) คืออะไร? ดีอย่างไร?
• Google Ads (Google AdWords) คืออะไร? ดีอย่างไร?
• Performance Marketing คืออะไร? ดีกว่าการตลาดออนไลน์ทั่วไปอย่างไร?
• Programmatic Advertising (Programmatic Buying) คืออะไร? ดีอย่างไร?
• Return on Investment (ROI) คืออะไร? สำคัญต่อการทำการตลาดอย่างไร?
• Lead Generation คืออะไร? สำคัญต่อการทำการตลาดอย่างไร?
• Call To Action (CTA) ในเว็บไซต์และการตลาด คืออะไร?
• Conversion คืออะไร? สำคัญต่อการทำการตลาดออนไลน์อย่างไร?