แม้ว่าโลกออนไลน์จะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ใช่ว่าเราจะทำอะไรก็ได้บนโลกออนไลน์โดยไม่มีความผิด เช่น โพสต์ข่าวปลอม แฮ็กข้อมูล ดักฟัง ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อน ดังนั้น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อกำหนดโทษของผู้ที่กระทำความผิด เพื่อให้สังคมออนไลน์ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คืออะไร?
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งออกมาเพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดต้องได้รับโทษตามที่ พ.ร.บ.กำหนดไว้ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2562) เป็นฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2560 โดยคอมพิวเตอร์ในที่นี้คือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น
สรุปหัวข้อพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ควรรู้
มาตรา 5
การแฮ็คหรือเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่นโดยที่เจ้าของไม่อนุญาต โดยระบบคอมพิวเตอร์ หมายถึง องค์ประกอบในการทำงานของคอมพิวเตอร์ คือ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยไวรัสเข้าไปในระบบ
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 6
การล่วงรู้ระบบป้องกันคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นแล้วนำไปเปิดเผย โดยอาจเกิดจากการปล่อยไวรัสจนได้รู้ระบบป้องกันคอมพิวเตอร์ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อ
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 7
การแฮ็คหรือเจาะเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่นที่ไม่ใช่ของตน โดยข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึง รายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ผู้ใช้งานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่สามารถใช้งานต่อได้ เช่น รูปภาพ วิดีโอ ข้อความต่างๆ
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 8
การดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ การดักรับข้อมูลในที่นี้ หมายถึง การดักฟัง การดักดูข้อมูลบนหน้าจอ การดูข้อมูลในแชท โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 9
การแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำให้ข้อมูลเสียหาย
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10
การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ หรือทำให้ถูกรบกวนจนใช้ไม่ได้ตามปกติ เช่น ขัดขวางการทำงานของระบบเว็บไซต์จนใช้งานไม่ได้ตามปกติ หรือถึงขั้นใช้งานไม่ได้
บทลงโทษ
• จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11
การส่งข้อมูลหรืออีเมลโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาเพื่อรบกวนคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ฝากร้านตามอินสตาแกรมก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน หรือการส่งอีเมล เช่น สแปม ที่ผู้รับไม่สามารถปฏิเสธตอบรับได้
บทลงโทษ
• กรณีปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
• กรณีส่งอีเมลสแปม มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 12
มาตรานี้พูดถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ตั้งแต่ การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ การดักรับข้อมูล การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล การส่งต่อข้อมูล การโพสต์ข้อความ การเปิดเผยมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง เช่น การโพสต์ข้อความปลุกปั่นทางการเมือง การโพสต์ข้อมูลเท็จที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
บทลงโทษ
• กรณีไม่เกิดความเสียหาย จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 140,000 บาท
• กรณีเกิดความเสียหาย จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท
• กรณีเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท
มาตรา 13
การจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 5-11 เช่น โปรแกรมแฮ็ค ดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งอีเมลสแปม
บทลงโทษ
• จําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
กรณีเผยแพร่ชุดคำสั่งแล้วมีผู้นำไปใช้ทำความผิดตามมาตรา 12 คือ การกระทำที่ก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
บทลงโทษ
• ผู้เผยแพร่ต้องรับผิดชอบร่วมด้วยโดยได้รับบทลงโทษเพิ่มขึ้น
• กรณีที่ทำผิดทั้งสองอย่าง ต้องรับโทษที่มีอัตราโทษสูงสุดกระทงเดียว
มาตรา 14
มาตรานี้ระบุถึงการนำข้อมูลที่ผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แบ่งได้ 5 ข้อดังนี้
1. การโพสต์ข้อมูลปลอม บิดเบือน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น ข่าวปลอม
2. การโพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ สร้างความแตกตื่นให้ประชาชน
3. การโพสต์ข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
4. การโพสต์ข้อมูลลามกที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
5. การเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือข้อมูลดังกล่าวข้างต้น เช่น กดแชร์ข่าวปลอม
บทลงโทษ
• กรณีกระทำผิดต่อประชาชน เช่น สร้างความแตกตื่น จําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
• กรณีกระทำผิดต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
มาตรา 15
การรู้เห็น ให้ความร่วมมือ หรือยินยอมให้มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 เช่น เจ้าของเพจที่มีผู้มาแสดงความเห็นที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย โดยไม่ลบออก
บทลงโทษ
มีโทษเช่นเดียวกันกับผู้ทำความผิดตามมาตรา 14 แบ่งได้ 2 กรณีดังนี้
• กรณีกระทำผิดต่อประชาชน เช่น สร้างความแตกตื่น จําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
• กรณีกระทำผิดต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
• แต่ถ้าผู้ดูแลระบบพิสูจน์ได้ว่าตนได้ระงับการเผยแพร่ข้อมูล หรือลบข้อมูลออกแล้ว ไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 16
การโพสต์ภาพผู้อื่นที่เกิดจากการบิดเบือนความจริง ทั้งการสร้างขึ้นมา การตัดต่อ ดัดแปลง แล้วทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง เช่น การเอาภาพดาราไปตัดต่อและแต่งเรื่องให้เสียหาย หรือโพสต์ภาพผู้เสียชีวิต ที่ทำให้พ่อแม่ คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง
บทลงโทษ
• จําคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ของประชาชนทั่วไป ทั้งการแฮ็กข้อมูล การดักรับข้อมูล รวมถึงยังช่วยไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสังคมจากการส่งต่อหรือบิดเบือนข้อมูลบนโลกออนไลน์ การทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีบทลงโทษทั้งจำและปรับ จึงควรระมัดระวังในการใช้งาน